วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558

Cryotherapy จี้หูดด้วยความเย็น



Cryotherapy หรือการจี้ไอเย็น เป็นวิธีการรักษาที่มีมานาน โดยมักใช้ไนโตรเจนเหลวซึ่งมีจุดเยือกแข็งที่ -196 องศา (ไม่ผิดนะคะ  เย็นกว่าน้ำแข็งมากเลยทีเดียว) เพื่อไปทำลายเนื้อเยื่อที่เราไม่ต้องการออก
โดยการจี้ไอเย็นนั้น ไม่ได้เฉพาะกับการรักษาหูดเท่านั้น ยังช่วยรักษากระเนื้อ หรือแม้แต่มะเร็งผิวหนังได้ด้วย

การดูแลหลังจี้ไอเย็น 
  1.  การดูแลหลังจี้ไอเย็นนั้น ไม่ลำบากอะไรเลย สามารถปฏิบัติตัวได้ตามปกติ 
  2.   แต่หากเกิดตุ่มน้ำ หลังจากนั้น 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรแกะ แนะนำให้ทายาแก้อักเสบชนิดขี้ผึ้งทุกวัน นาน 7 วัน ตุ่มน้ำจะค่อยๆยุบเอง
  3.  สามารถทายารักษาหูดได้ หลังจากทำการพ่นไอเย็นไปแล้ว 5-7 วัน 
  4.  โดยปกติแล้วการติดเชื้อแทรกซ้อน เกิดขี้นได้น้อยมาก แต่หากพบอาการบวมแดง มีหนอง ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์
 
ผลการรักษา
  • ·         หลังจากรักษา ผิวหนังจะกลับมาเป็นเนื้อปกติ แต่มีบางครั้งอาจเป็นรอยขาว หรือขำขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความลึกของรอยโรค
  • ·         หลายครั้งที่ หูด กระเนื้อ หรือมะเร็งที่รักษาไม่หายจากการทำเพียงครั้งเดียว ควรมาพบแพทย์ต่อเนื่องทุก 2-4 สัปดาห์
  • ·         น้อยครั้งที่การจี้ไอเย็นอาจทำให้เกิดความรู้สึกชาเฉพาะที่ได้ โดยความรู้สึกที่ผิดปกตินั้นจะกลับมาปกติเองในไม่กี่สัปดาห์

 



วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558

หูดคืออะไร รักษาอย่างไรดี

 หูด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส "ปาโปวา" (papova virus)
ลักษณะหูดนี้จะเป็นเม็ดตุ่มนูนแข็ง มีรากอยู่ข้างใต้หูด มีขนาดแตกต่างกันไป แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

  1. หูดธรรมดา (common wart)
ลักษณะของหูดชนิดนี้ จะเป็นตุ่มเม็ดนูนแข็ง ผิวค่อนข้างขรุขระ อาจมีเม็ดเดียว หรือ หลายเม็ดก็ได้
ตำแหน่งที่พบ ที่พบบ่อย คือ บริเวณแขน ขา มือ และเท้า (ภาพจาก wikipedia)
    2.  หูดชนิดแบน (plane wart) ลักษณะของหูดชนิดนี้จะเป็นเม็ดเล็กแข็ง แต่ผิวเรียบ ซึ่งต่างจากหูดธรรมดา เพราะว่า หูดธรรมดา จะมีผิวขรุขระกว่า
ตำแหน่งที่พบ ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ หลังมือ หน้าแข็ง หน้าผาก (ภาพจาก Dermnetz)
   3.  หูดฝ่าเท้า (plantar wart)
ลักษณะเป็นไต แผ่นหนาแข็ง เป็นปื้นใหญ่ ขนาดใหญ่กว่าหูดธรรมดา
ตำแหน่งที่พบ พบที่บริเวณฝ่าเท้า ข้างใต้ฝ่าเท้า (ภาพจาก skincarestop)

ใครกันบ้างที่เป็นหูด ?
หูดพบได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้หูดมักจะพบในผู้ที่มี ความต้านทานต่ำหรือไม่ค่อยสบาย มีการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย

หูดมีอาการอย่างไร ?
หูดทำให้มีอาการเจ็บได้แต่ไม่คัน ส่วนใหญ่ที่เจ็บมากคือ หูดที่ฝ่าเท้า เพราะเมื่อคุณเดินไปเดินมา จะไปกดทับหูดโดยตรง ทำให้เจ็บได้

หูดติดต่อกันอย่างไร
วิธีการติดต่อของหูดทั้ง 3 ชนิด คือ ติดต่อทางการสัมผัสเชื้อโดยตรง (direct contact) เช่น ถ้าคุณผู้อ่านมีรอยถลอก หรือมีแผล ตามมือ เท้า แขน แล้วอยู่ดี ๆ ก็ไปสัมผัสกับคนที่เป็นหูดนี้ โดยที่ตัวคุณไปสัมผัสเข้ากับเจ้าตุ่มเม็ดหูดนี้โดยตรงเลย เชื้อไวรัสหูดนี้ ก็จะสามารถแพร่กระจาย มาที่ตัวคุณผู้อ่านได้ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว คนที่เป็นหูด ระยะแรกจะมีเม็ดเดียว ต่อมาเกิดรำคาญหงุดหงิดใจ ก็เลยลองแกะดูเล่น ๆ หรือพยายามใช้กรรไกรตัดเล็บตัดออก แกะไปแกะมา จะทำให้เกิดการแพร่กระจาย ของเชื้อไวรัสหูดนี้ได้ ดังนั้นช่วงแรก อาจเป็นหูด 1 เม็ด ต่อมาไม่นาน กลายเป็นหูดถึง 10-20 เม็ดเชียวนะคะ อย่าทำเป็นเล่นไป

วิธีการรักษาหูด
  1. ทายา ถ้าเป็นหูดเม็ดเล็ก ๆ หรือเป็นไม่มากนัก หรือหูดในเด็ก ๆ ใช้ยาทา การทายานี้ ได้ผลพอใช้ อาจต้องใช้ระยะเวลานาน ขึ้นอยู่กับขนาดของหูด 
  2. พ่นไนโตรเจนเหลว  เป็นการใช้ไอเย็นทำลายเชื้อหูด วิธีนี้ได้ผลดี ดูแลแผลง่าย สามารถพ่นซ้ำได้ทุก 2-4 สัปดาห์
  3. จี้ด้วยเลเซอร์ ใช้แสงเลเซอร์จี้ที่ตัวหูด ได้ผลดีเช่นกัน แต่หลังทำจะเป็นแผลเป็นสะเก็ดอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์
  4. ผ่าตัดออก คือการผ่าตัดเอาตัวก้อนหูดนี้ออกไปเลย แต่ไม่ค่อยนิยมทำกัน